วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พิชิตดอยหัวเสือ ยลโฉมป่าโบราณ



           ถ้าเอ่ยถึง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ หลาย ๆ คนคงนึกถึงภาพ ยอดดอยอินทนนท์ น้ำตกแม่ยะ กิ่วแม่ปาน น้ำตกผาดอกเสี้ยว น้ำตกสิริภูมิ และ สถานีวิจัยเกษตรหลวงอินทนนท์ เป็นต้น

          ซึ่ง จริง ๆ แล้วภายในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยสดงดงามอีกมากมาย เพราะฉะนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักอีกหนึ่งสถานที่ ที่รับรองได้ว่าไม่ผิดหวังแน่นอน นั่นก็คือ ดอยหัวเสือ อะ ๆ แต่จะงามขนาดไหนนั้น ตามเราไปเที่ยวกันเลย 


             ดอยหัวเสือ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สูงจากระดับน้ำทะเล 1,881 เมตร และสูงเป็นอันดับที่ 4 ของอุทยานฯ ลักษณะดอยเป็นรูปจมูกเสือ จึงเป็นที่มาของชื่อ ดอยหัวเสือ ที่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด สภาพป่าบริเวณนี้จะเป็นป่าสนสลับป่าดิบเขา และจะพบกุหลาบพันปีสามสีภูกระดึงในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และ ว่านมียับ ซึ่งเป็นพืชล้มลุก



                สำหรับบรรยากาศสองข้างทางกว่าจะไปถึงยอดดอย จะเต็มไปด้วยแมกไม้และต้นไม้ขนาดใหญ่ บางต้นมีอายุร่วมพันปี รวมถึงจะพบกัน "ต้นไม้ใส่เสื้อ" หรือ "ป่าโบราณ" ที่ถูกผืนพรมธรรมชาติอันเขียวสดของพืชพันธุ์ ห่อหุ่มไว้ประหนึ่งกันหนาว เพราะสภาพอากาศที่ชุ่มชื้น และด้วยความสูง 1,881 เมตร ทำให้ลำต้นของต้นไม้เกิด ไลเคน มอส และเฟิน อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก 


              ทั้งนี้ นอกจากสภาพป่าที่สมบูรณ์ยังมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้เกือบ 360 องศา เนื่องจากสภาพค่อนข้างโล่ง แต่ต้องระมัดระวังพื้นที่จะค่อนข้างลาดชัน จากจุดชมวิวสามารถมองเห็นด้านล่าง ซึ่งเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงทางแม่แจ่ม และยอดเทือกเขาดอยอินทนนนท์


           ส่วนยอดหัวเสือจะมีจุดชมวิวอยู่หลายแห่ง จุดแรกจะสามารถมองขึ้นมาเห็นยอดหัวเสือในส่วนที่เรียกว่า จมูกเสือ จุดชมวิวตรงจมูกเสือเป็นลานสนามหญ้า และมีก้อนหินขนาดใหญ่เป็นที่นั่งพักไว้อย่างดี และเดินเลยขึ้นไปอีกตรง ยอดหัวเสือ ทั้งนี้ บริเวณใกล้ ๆ ยอดหัวเสือ จะพบกับ "บ่อดินปริศนา" ซึ่งมีลักษณะคล้ายหลุมบังเกอร์ของทหาร กว้างประมาณ 4-6 เมตร มีต้นไม้ขึ้นมาคลุมจากด้านล่าง ถ้าไม่สังเกตจะมองไม่ออกว่าเป็นบ่อ

          สำหรับ เส้นทางนี้เป็นเส้นทางนักเดินทางที่ค่อนข้างยาว เป็นการเดินทางขึ้นลงเขา ช่วงแรกของเส้นทางจะเดินขึ้นแล้วเลาะไปตามแนวสันเขา มีขึ้นมีลงเกือบตลอดเส้นทาง แต่เนื่องจากมีความหลากหลายของสภาพป่า ทำให้ตลอดเส้นทางมีจุดที่น่าสนใจและน่าศึกษาหลายแห่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น