วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เศียรพระในต้นไม้ ณ วัดมหาธาตุ อยุธยา




          ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำกานต์กวี คนดีศรีอยุธยา...นี่คือคำขวัญของ "จังหวัดพระนครศรีอยุธยา" หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "อยุธยา" ซึ่งแต่เดิมในอดีตเคยเป็นราชธานีเก่าแก่ของสยามประเทศมาถึง 417 ปี จึงไม่แปลกหากจะกล่าวว่า "อยุธยา" เป็นราชธานีที่มีอายุยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย

          และด้วยความที่เคยเป็นราชธานีเก่าแก่ จึงมีวัดวาอาราม รวมถึงสิ่งปลูกสร้าง และโบราณสถานต่าง ๆ ปรากฏเรียงรายให้ชื่นชมอยู่เป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าจะชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงมนต์เสน่ห์และความงดงาม โดยเฉพาะวัดวาอารามเก่าแก่ต่าง ๆ


           ทำให้วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปสำรวจความงามของ วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดในเขต อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และมีความสำคัญยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมธาตุใจกลางพระนคร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งยังเป็นที่พำนักของ สมเด็จพระสังฆราช ฝ่ายคามวาสี จึงได้รับการก่อสร้างและดูแลตลอดเวลา

          จวบจนถูกทำลายลงหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือ ชื่อของ
วัดมหาธาตุ ยังโด่งดังไปทั่วโลกในความ Unseen Thailand แต่จะเป็นอะไรนั้น ตามไปดูกันดีกว่า...



          วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ทางทิศตะวันออกของ วัดพระศรีสรรเพชญ์ พงศาวดารบางฉบับกล่าวว่า วัดมหาธาตุ สร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ต่อมาเมื่อ พ.ศ.1927 สมเด็จพระราเมศวรโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัด

          พระปรางค์ วัดมหาธาตุ ถือเป็นปรางค์ที่สร้างในระยะแรกของสมัยอยุธยา ได้รับอิทธิพลจากปรางค์ขอม ชั้นล่างก่อสร้างด้วยศิลาแลง แต่ที่เสริมใหม่ตอนบนเป็นอิฐถือปูน สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์ใหม่ โดยเสริมให้สูงกว่าเดิม แต่ขณะนี้ยอดพังลงมาเหลือเพียงชั้นมุขเท่านั้น จึงเป็นที่น่าเสียดายเพราะมีหลักฐานว่าเป็นปรางค์ที่มีขนาดใหญ่มาก และก่อสร้างอย่างวิจิตรสวยงามมาก 


           เมื่อ พ.ศ. 2499 กรมศิลปากรได้ขุดแต่งพระปรางค์แห่งนี้ พบของโบราณหลายชิ้นที่สำคัญคือ ผอบศิลา ภายในมีสถูปซ้อนกัน 7 ชั้น แบ่งออกเป็น ชิน เงิน นาก ไม้ดำ ไม้จันทร์แดง แก้วโกเมน และทองคำ ชั้นในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องประดับอันมีค่า ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุนำไปประดิษฐานไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา




           แต่สิ่งที่น่าสนใจใน วัดมหาธาตุ อีกอย่างคือ เศียรพระพุทธรูปหินทราย ซึ่งมีรากไม้ต้นโพธิ์ปกคลุมอยู่ โดยเศียรพระพุทธรูปนี้ เป็นพระพุทธรูปหินทรายเหลือแค่ส่วนเศียร สำหรับองค์พระนั้นหายไป และเป็นเศียรพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา วางอยู่ในรากโพธิ์ข้างวิหารราย ทั้งนี้ เข้าใจว่าเศียรพระพุทธรูปนี้จะหล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ ในสมัยเสียกรุง จนรากไม้ขึ้นปกคลุมทำให้มีความงดงามแปลกตา

          อย่างไรก็ตาม นอกจากความแปลกแต่งดงามนี้ ยังทำให้ชื่อเสียงของ วัดมหาธาตุ โด่งดังไปทั่วโลก หลังจากเว็บไซต์ Tripadvisor (เว็บไซต์ท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก) จัดอันดับว่าเศียรพระพุทธรูปหินทราย ที่ถูกห่อหุ้มด้วยรากของต้นโพธิ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และนักท่องเที่ยวอยากเดินทางมาพิสูจน์ด้วยตาตนเอง จึงทำให้แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แวะเวียนมาถ่ายภาพ เศียรพระพุทธรูปหินทราย เป็นจำนวนมาก

เที่ยวลพบุรี ชมพระปรางค์สามยอด


          จังหวัดลพบุรี มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งนอกจาก ทุ่งทานตะวัน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ถ้ำเทวาพิทักษ์ แล้วยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติ วันนี้เราจึงจะพาเพื่อน ๆ ไปยลโฉมความอลังการและงดงามของ พระปรางค์สามยอด โบราณสถานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดกัน

          พระปรางค์สามยอด ตั้งอยู่บนเนินดินด้านตะวันตกของทางรถไฟ มีลักษณะเป็นปรางค์เรียงต่อกัน 3 องค์ มีฉนวนทางเดินเชื่อมติดต่อกัน พระปรางค์สามยอดเป็นศิลปะเขมรแบบบายน ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 สร้างด้วยศิลาแลง และตกแต่งลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม เสาประดับกรอบประตูแกะสลักเป็นรูปฤาษีนั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งเป็นแบบเฉพาะของเสาประดับกรอบประตูศิลปะเขมรแบบบายน ปรางค์องค์กลางมีฐาน แต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแ ละมีเพดานไม้เขียนลวดลายเป็นดอกจันสีแดง

          ด้านหน้าทางทิศตะวันออก มีวิหารสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ปางสมาธิที่สมบูรณ์ดี เป็นศิลปะแบบสมัยอยุธยาตอนต้น อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 แต่เดิมปรางค์สามยอดนี้คงเป็นเทวสถานของขอมในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ต่อมาได้ดัดแปลงเป็นเทวสถาน โดยมีฐานศิวลึงค์ปรากฏอยู่ในองค์ปรางค์ทั้งสามปรางค์

          จนกระทั่งถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระปรางค์สามยอดเป็นวัดในพุทธศาสนา แล้วสร้างพระวิหารก่อด้วยอิฐ ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาผสมแบบยุโรปในส่วนของประตูและหน้าต่าง ภายในวิหารประดิษฐานพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยาตอนต้น ปัจจุบันยังคงประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง

          เปิด ให้เข้าชม ระหว่างเวลา 06.00-18.00 น. เว้นวันจันทร์-อังคาร อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท หรือ สามารถซื้อบัตรรวม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชม วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระที่นั่งไกรสรสีหราช พระปรางค์สามยอด และบ้านหลวงวิชาเยนทร์

          ทั้งนี้ บริเวณใกล้ ๆ กันริมทางรถไฟด้านทิศตะวันออกของพระปรางค์สามยอด ยังมี ศาลพระกาฬ เทวสถานเก่าของขอม สร้างด้วยศิลาแลงเรียงซ้อนกันเป็นฐานสูง จึงเรียกกันมาแต่ก่อนอีกชื่อหนึ่งว่า "ศาลสูง" ที่ทับหลังซึ่งทำด้วยศิลาทรายสลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 วางอยู่ติดฝาผนังวิหารหลังเล็กชั้นบน ณ ที่นี้ได้พบหลักศิลาจารึกแปดเหลี่ยมจารึกอักษรมอญโบราณด้วย

          ส่วนด้านหน้าเป็นศาลที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2494 โดยสร้างทับบนรากฐานเดิม ที่สร้างไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายในวิหารประดิษฐานพระนารายณ์ยืน ทำด้วยศิลา 2 องค์ องค์เล็กเป็นแบบเทวรูปเก่าในประเทศไทย องค์ใหญ่เป็นประติมากรรมแบบลพบุรี แต่พระเศียรเดิมหายไป ภายหลังมีผู้นำพระเศียรพระพุทธรูปศิลาทรายสมัยอยุธยามาสวมต่อไว้ เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป


           ในบริเวณรอบศาลพระกาฬร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ จึงเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงลิงกว่า 300 ตัว ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของจังหวัดลพบุรี กล่าวกันว่าเดิมบริเวณนี้เต็มไปด้วยต้นกร่างขนาดใหญ่ มีลิงอาศัยอยู่ เมื่อมีคนนำอาหารและผลไม้มาแก้บนที่ศาลพระกาฬ ลิงป่าเหล่านั้นได้เข้ามากินอาหาร จึงเชื่องและคุ้นเคยกับคนมากขึ้น

          โดยมีตำนานเกี่ยวกับลิงลพบุรีว่าเป็น ลิงสามก๊ก (ฉบับลพบุรี) คือมีถิ่นอาศัยและหากินอยู่ใกล้กัน แต่กลับไม่ถูกกัน ซึ่งแบ่งออกเป็นสามก๊ก คือก๊กแรกจะอยู่ที่ศาลพระกาฬ ก๊กที่สองจะอยู่ที่พระปรางค์สามยอด ก๊กที่สามจะอยู่บริเวณอาคารและตึกร้านค้าต่าง ๆ ในตัวเมืองลพบุรีและสถานีรถไฟลพบุรี

ผาแต้ม งดงามทางธรรมชาติและอารยธรรม



          อุทยานแห่งชาติแม้ว่าจะมีสภาพเป็นป่าสี เขียวเหมือนกันหมด แต่น้อยที่นักจะทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่า ได้ถูกเติมเต็มด้วยความงดงาม ธรรมชาติ และอารยธรรม อย่างเช่น อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี แห่งนี้

          อุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีเนื้อที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วยสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่านานาชนิด มีจุดเด่นที่สวยงามตามธรรมชาติมากมาย ในอดีตชาวบ้านท้องถิ่นที่ทำกินในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ป่าภูผา น้อยคนนักที่จะเดินทางเข้าไปในป่าดังกล่าว เนื่องจากมีความเชื่อว่า ผาแต้ม เป็นเขตต้องห้าม ภูผาเหล่านี้มีความศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าเป็นภูผาแห่งความตาย ใครล่วงล้ำเข้าไปมักมีอันเป็นไป อาจเจ็บไข้หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

          ผาแต้ม มีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อคณะอาจารย์และนักศึกษาภาควิชามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร มีการค้นพบภาพเขียนสีโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,000-4,000 ปี ได้มาทำการสำรวจและค้นพบภาพเขียนสี โบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ ผาแต้ม จึงได้เสนอต่อกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ขอให้จัดตั้งป่าภูผาในบริเวณ ผาแต้ม เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้รับการประกาศให้เป็น อุทยานแห่งชาติผาแต้ม เป็น อุทยานแห่งชาติลำดับที่ 74 ของประเทศไทย และถือได้ว่าเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีแม่น้ำโขงซึ่งเป็นเส้นกั้นพรมแดน ระหว่างประเทศไทยและประเทศลาวเป็นแนวเขต


            ลักษณะภูมิประเทศ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีสภาพพื้นที่เป็นเทือกเขาติดต่อกันลักษณะสูง ๆ ต่ำ ๆ สลับกันไปทั่วพื้นที่ ระดับความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 100-600 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีภูผาที่สำคัญ ได้แก่ ภูผาขาม ภูผาเมย ภูผาเจ็ก ภูผาสร้อย ภูย่าแพะ ภูชะนะได ภูผานาทาม ภูโลง ภูปัง ภูจันทร์แดง ภูหลวง ภูสมุย และภูกระบอ เป็นต้น และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของห้วยช้าง ห้วยภูโลง ห้วยฮุง ห้วยลาน ห้วยเพราะ ห้วยแยะ ห้วยกวย ห้วยกะอาก ห้วยใหญ่ ห้วยสูง และห้วยหละหลอย

          สำหรับอากาศสามารถแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือน มิถุนายน-กันยายน, ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์, ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม อุณหภูมิในแต่ละฤดูแตกต่างกันอย่างมาก ในฤดูฝนจะมีพายุฝนฟ้าคะนองอยู่บ่อยๆ ในฤดูหนาวอากาศเย็นและแห้งแล้ง ความชื้นในบรรยากาศมีน้อย ในฤดูร้อนอากาศร้อนจัด ต้นไม้ใบหญ้าแห้ง


             อุทยานแห่งชาติผาแต้ม แบ่งพื้นที่ท่องเที่ยว คือ ย่านผาแต้ม เป็นจุดท่องเที่ยวหลักของอุทยานฯ ซึ่งได้รับความนิยม สถานที่ท่องเที่ยวในย่าน ผาแต้ม รวมเอาพื้นที่บริเวณที่ทำการอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บ้านพัก และลานกางเต้นท์และพื้นที่ใกล้เคียง

          บริเวณ ผาแต้ม บริเวณด้านล่างของหน้าผา มีภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ปรากฏเรียงรายอยู่เป็นระยะ มีอายุไม่ต่ำกว่าสามพันถึงสี่พันปี ทางอุทยานฯ ได้ทำทางเดินจากหน้าผาด้านบนลงไปชมภาพเขียนสีเหล่านี้ เป็นภาพเขียนสีที่ยาวที่สุดในประเทศไทย แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ สัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้ สัญลักษณ์ และคน กลุ่มภาพเขียนสีผาแต้มแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ...

          1. กลุ่มภาพเขียนสีผาขาม มีทางเดินลงมาจากลานผาแต้มประมาณ 30 เมตร จากนั้นเป็นทางราบริมหน้าผาเดินไปอีก 400 เมตรจึงจะถึง ภาพค่อนข้างลบเลือนไปมากแล้ว เหลือเพียงร่องรอยคล้ายภาพก้างปลา และลายเส้นทึบหยักไปมาคล้ายคลื่นน้ำ

          2. กลุ่มภาพเขียนสีผาแต้ม จากผาขามเดินไปอีก 300 เมตรก็จะถึง เป็นกลุ่มภาพเขียนสีที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีจำนวนมากกว่า 300 ภาพ เรียงรายเป็นแนวยาวถึง 180 เมตร มีภาพกลุ่มสัตว์ ช้าง ปลา วัว เต่า ภาพมือ เครื่องมือจับสัตว์น้ำ ภาพคน และภาพลวดลายเรขาคณิต บอกเล่าถึงพิธีกรรม ความเชื่อ วิถีชีวิตของมนุษย์ในยุคจับปลา-ล่าสัตว์สมัยก่อนประวัติศาสตร์

          3. กลุ่มภาพเขียนสีผาหมอน มีภาพกลุ่มสัตว์ วัว ควาย ภาพคนถืออาวุธคล้ายธนู อยู่ในทุ่งหญ้าหรือนาข้าว ภาพมือ และภาพลวดลายเรขาคณิต สะท้อนถึงการเป็นแหล่งชุมชนเกษตรกรรมเพาะปลูกข้าวเก่าแก่ของโลก

          4. กลุ่มภาพเขียนสีผาหมอนน้อย มีภาพคนนุ่งกระโปรง ยืนเท้าเอว ลักษณะการวาดแบบกิ่งไม้ภาพสัญลักษณ์ ลวดลายเรขาคณิต และภาพฝ่ามือกระจายอยู่ทั่วไป 


          สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ อาทิ เสาเฉลียง อยู่ก่อนถึงผาแต้มประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นเสาหินธรรมชาติที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำและลมนับล้านปี มีลักษณะคล้ายดอกเห็ดเรียงรายกันอยู่มากมาย ซึ่งหินดังกล่าวจะปรากฏเห็นซากเปลือกหอย กรวด ทราย อยู่ในเนื้อหิน ซึ่งนักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่า เมื่อประมาณล้านกว่าปีมาแล้ว บริเวณนี้คงจะเป็นทะเลมาก่อน ชาวบ้านบริเวณนี้เรียกเสาหินที่คล้ายดอกเห็ดนี้ว่า "เสาเฉลียง" ซึ่งแผลงมาจากคำว่า "สะเลียง" ที่หมายถึง "เสาหิน"

          น้ำตกสร้อยสวรรค์ ตั้ง อยู่บนทางหลวงหมายเลข 2112 ห่างจากตัวอำเภอโขงเจียมประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เกิดจากลำธาร 2 สาย คือห้วยสร้อยและห้วยไผ่ ที่ไหลจากมาบรรจบกัน ซึ่งสูงประมาณ 20 เมตร มองดูคล้ายสร้อยที่แขวนคอ


           ทุ่งดอกไม้ป่าน้ำตกสร้อยสวรรค์ ตั้งอยู่บริเวณลานหินด้านบนของน้ำตกสร้อยสวรรค์ ขนาบสองฝั่งของลำห้วย ทุ่งดอกไม้ป่าบนลานหินจะบาน เฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาวเท่านั้น โดยมีพื้นที่กว้างขวางจรดชายป่าเต็งรังที่อุดมสมบูรณ์ ดอกไม้ป่าบริเวณลานหินนี้เป็นต้นเล็กซึ่งมีทั้งดอกสร้อยสุวรรณา ดอกดุสิตา ดอกมณีเทวา ดอกทิพย์เกสร หญ้าวัว หยาดน้ำค้าง เป็นต้น นับเป็นเสน่ห์และสีสัน สำหรับการเที่ยวชมน้ำตกสร้อยสวรรค์ได้เป็นอย่างดี ช่วงที่เหมาะสมในการท่องเที่ยวคือปลายตุลาคม-ธันวาคม 

          ทั้งนี้ สามารถติดต่อได้ที่ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ตู้ ปณ. 5 ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี 34220 โทรศัพท์ 0 4531 8026, 0 4524 6332

ห้วยจิโน มุมมองใหม่ของชีวิตที่อมก๋อย



           อมก๋อย...เป็น อีกอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ที่นักเดินทางมักแวะเวียนไปสัมผัสความงดงามเสมอ ๆ ทั้ง ๆ ที่ในอดีต อมก๋อย เป็นดินแดนที่อยู่ไกลปืนเที่ยงของเชียงใหม่ แต่อาจเพราะความงดงามของ ดอยม่อนจอง และ ห้วยจิโน ทำให้วันนี้ อมก๋อย ไม่เงียบเหงาเหมือนที่ผ่านมา

          และจากที่เราก็เคยนำเสนอเรื่องราวของ ดอยม่อนจอง กันไปแล้ว เพราะฉะนั้น วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปยลโฉมความสวยงามของ ห้วยจิโน หรือ หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยจิโน กันอีกสักครั้ง

          อมก๋อย เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ใจกลางหุบเขา โอบล้อมด้วยขุนเขาสูงชัน เป็นถิ่นอาศัยของชาวไทยภูเขาหลายเผ่า มีหน่วยงานรัฐมากมายเข้าไปเพื่อช่วยพลิกฟื้นชีวิตและผืนป่า หนึ่งในนั้นคือ หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยจิโน ซึ่ง หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยจิโน ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 17 ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่



           ห้วยจิโน สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 1,300 เมตร ตั้งอยู่บนไหล่เขาสูงชัน สามารถมองเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนกว้างไกล  มีทิวทัศน์ที่สวยงาม  เงียบสงบ   เหมาะสมต่อการไปพักผ่อนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะบรรยากาศยามเช้า หากโชคดีก็อาจจะพบกับท้องทะเลหมอกงดงามไม่แพ้ที่อื่น ๆ

          ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางไปท่องเที่ยว ห้วยจิโน คือราว ๆ เดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีให้บริการ เช่น มีลานสำหรับตั้งแคมป์อยู่บริเวณลานจอดรถ และมีบ้านพักรองรับให้บริการ 1 หลัง สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยจิโน โทรศัพท์ 0 5390 3969 หรือ คุณสมบัติ หัวหน้าหน่วยฯ ดอยมูเซอ โทรศัพท์ 08 5708 7441


แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง

          ดอยม่อนจอง นอกจากได้ชื่อว่าเป็นดอยที่มีสีสันทุ่งหญ้า ที่สวยงามที่สุดของเมืองไทยแล้ว ดอยม่อนจองยังเป็นที่อยู่ของกวางผา ซึ่งการเดินทางขึ้นดอยม่อนจองต้องเดินเท้า ใช้เวลาประมาณ 2 – 4 ชั่วโมง โดยติดต่อขออนุญาตที่หน่วยฯ ดอยมูเซอ

          ป่าสนกองลม ป่าสนที่ปลูกเรียงรายเป็นระเบียบสวยงามตระการตา ตั้งอยู่ก่อนถึงทางแยกไปอำเภออมก๋อย

          บ้านแม่ตื่น เป็นชุมชนโบราณที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน ตั้งอยู่ริมน้ำแม่ตื่น ห่างจากตัวอำเภออมก๋อยราว 70 กิโลเมตร


การเดินทาง

          เลยจากที่ว่าการอำเภออมก๋อยไม่ไกล จะมีสี่แยกเล็ก ๆ ซ้ายมือไปบ้านแม่ตื่น ขวามือไป หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยจิโน ระหว่างทางไม่มีป้ายบอกทางชัดเจน ต้องใช้วิธีสอบถามจากชุมชนให้ชัดเจน รวมระยะทาง 29 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางราว 2 – 3 ชั่วโมง ซึ่งพาหนะมรการเดินทางควรจะเป็นรถปิกอัพหรือรถขับเคลื่อนสี่ล้อ แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนควรใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น

กราบนมัสการพระธาตุ ณ วัดหนองแวง จังหวัดขอนแก่น


กราบนมัสการพระธาตุ ณ วัดหนองแวง จังหวัดขอนแก่น

          เนื่อง จากในเดือนนี้มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาคือ วันอาสาฬหบูชา ทางคู่หูเดินทางจึงอยากเชื้อเชิญให้เราชาวพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เข้าวัด ฟังธรรม รักษาศีล เพื่อเป็นการพักผ่อนจิตใจ หลังจากที่เราต้องใช้ชีวิตอย่างเหน็ดเหนื่อยกับโลกในยุคปัจจุบันนี้ ทุกครั้งที่ทางทีมงานได้ออกไปทำคอลัมน์ เก็บเกี่ยวเรื่องราวและประสบการณ์ดี ๆ มาฝากคุณผู้อ่านก็ไม่เคยพลาดที่จะต้องแวะวัด ทำบุญ กราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเมืองนั้น ๆ เช่นกัน

          โอกาส นี้เราจึงอยากจะพาคุณผู้อ่าน ไปกราบนมัสการพระธาตุสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ณ วัดหนองแวง ซึ่งมีพระมหาธาตุแก่นนคร หรือ พระธาตุ 9 ชั้นอันงดงามตั้งอยู่ที่นั่นกันครับ...


                วัดหนองแวง (พระอารามหลวง) ซึ่งมีพระมหาธาตุแก่นนคร หรือ พระธาตุเก้าชั้น เรือนยอดทรงเจดีย์ (จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น) จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และมหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น ความสูงขององค์พระธาตุฯ 80 เมตร มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุมและมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานศิลปะอินโดจีน


           ในระหว่างการเดินขึ้นเราจะได้ยิน เสียงอันไพเราะก้องกังวาน ของกระดิ่งที่แขวนไว้โดยรอบพระธาตุทั้ง 9 ชั้น ทำให้มีความสุขใจในขณะเดินขึ้นไปในแต่ละชั้น พร้อมยังสามารถเดินชมศิลปะและความงดงามของบานประตู ภาพวาด และหน้าต่างแกะสลัก บอกเล่าเรื่องราวเป็นภาพชาดก ภาพพุทธประวัติ

          ในชั้นบนสุดของพระธาตุเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุกลางบุษบก อีกทั้งยังเป็นจุดชมวิวทัศนียภาพ ความสวยงามของเมืองขอนแก่นได้รอบทั้ง 4 ทิศ โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันออก สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของบึงแก่นนคร ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 600 ไร่


ภายในองค์พระธาตุแต่ละชั้น

           ชั้นที่ 1 เป็นหอประชุม มีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ส่วนอุรังคธาตุ (ส่วนอก) และพระธาตุของพระสาวกประมาณ 100 องค์ ประดิษฐานอยู่ บานประตู หน้าต่าง แกะสลักภาพนิทานเรื่องจำปาสี่ต้น แบบ 3 มิติ และมีจิตรกรรมฝาผนังประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น

           ชั้นที่ 2 เป็นพิพิธภัณฑ์ของชาวอีสาน โดยเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในอดีต ที่ค่อนข้างหาดูได้ยากในปัจจุบัน พร้อมทั้งทีการวาดลวดลายบนผนังที่เกี่ยวกับข้อห้ามของคนอีสาน ที่เรียกว่า "คะลำ" ซึ่งเป็นแนวประพฤติตนในการอยู่ร่วมกันของชาวอีสาน โดยแต่ละภาพก็หมายถึงข้อห้ามแต่ละข้อ ซึ่งมีทั้งหมด 35 ข้อ บานประตู หน้าต่าง เขียนลวดลายเบญจรงค์ และภาพแกะสลักนิทานเรื่องสังศิลป์ชัย

           ชั้นที่ 3 เป็นหอปริยัติ บานประตู หน้าต่าง เขียนลวดลายเบญจรงค์และภาพแกะสลักนิทานเรื่องนางผมหอม เป็นนิทานที่ได้เล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณของชาวอีสาน และในชั้นที่สามนี้ได้รวบรวมตาลปัตร พัดยศ และเครื่องอัฐบริขารของพระภิกษุสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในจังหวัดขอนแก่น

  
            ชั้นที่ 4 เป็นหอปริยัติธรรม ภายในมีพิพิธภัณฑ์ของเก่า ภาพวาดที่บานประตู หน้าต่าง เป็นภาพพระประจำวันเกิด เทพประจำทิศ และตัวพึ่ง-ตัวเสวย

           ชั้นที่ 5 เป็นหอพิพิธภัณฑ์ มีบริขารของหลวงปู่พระครูปลัดบุษบา สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ 6 บานประตูหน้าต่างแกะสลักภาพพุทธชาดก

           ชั้นที่ 6 เป็นหอพระอุปัชฌายาจารย์ บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานชาดกเรื่องเวสสันดร

           ชั้นที่ 7 เป็นหอพระอรหันต์สาวก บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานเรื่องพระเตย์มีใบ้

           ชั้นที่ 8 เป็นหอพระธรรม เป็นที่รวบรวมพระธรรม คัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา พระไตรปิฏก ฯลฯ บานประตูแกะสลักรูปพรหม 16 ชั้น

           ชั้นที่ 9 เป็นหอพระพุทธ ตรงกลางมีบุษบก เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า บานประตูแกะสลักภาพ 3 มิติ รูปพรหม 16 ชั้น

          ทั้งนี้ วัดหนองแวง เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น.

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เทศกาลล่องแก่งหินเพิง



เทศกาลล่องแก่งหินเพิง

          เทศกาล ล่องแก่งหินเพิง กำหนดการจัดงานเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม พ.ศ. 2554 ณ บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ 9 (ขญ.9) ตำบลสะพานหิน อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

กิจกรรม

          ล่องแก่งหินเพิง ใช้แพยางนั่งได้ประมาณ 8 -10 คน ล่องในลำน้ำใสใหญ่ สภาพแก่งน้ำอยู่ในระดับ 3 -5 นักล่องแก่งจะต้องใช้ทักษะและความชำนาญในการพายสูง เมื่อนักท่องเที่ยวติดต่อล่องแก่งกับผู้ประกอบการแล้ว ผู้ประกอบการฯ จะพานักท่องเที่ยว ไปยังบริเวณขญ. 9 (ใสใหญ่) และเดินป่าไปยังต้นน้ำ ระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 45 นาที จากนั้นจะเริ่มล่องแก่งมายังจุดสุดท้ายบริเวณ ขญ.9



ลักษณะของสายน้ำ

          แก่งหินเพิง เป็นแก่งหินตอนปลายสุดของแม่น้ำใสใหญ่ ซึ่งมีลักษณะทางธรณีวิทยา เป็นชั้นหินทราย ครั้นเมื่อถึงฤดูฝน กระแสน้ำจะไหลหลากอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดเกาะแก่งต่าง ๆ มากมาย แก่งหินเพิงเป็นที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ชอบความท้าทายกับสายน้ำอันเชี่ยวกราก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม กระแสน้ำบริเวณแก่งหินเพิงจะไหลรุนแรงมาก

ความตื่นเต้น ท้าทาย

          การล่องแก่งสายนี้จุดเด่นอยู่ที่ตัว แก่งหินเพิง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการล่องแก่ง ตัวแก่งหินเพิงมีลักษณะเป็นลานหินหักเทลื่นลงมา จนเกิดเป็นกระแสน้ำวนและเชี่ยวกราก ต้องใช้ความสามารถและทักษะในการพายเป็นอย่างยิ่ง จากจุดเริ่มต้นเหนือแก่งหินเพิงลงมาจะผ่านแก่งวังบอน บริเวณนี้มีโขดหินสองฝั่งขวางกระแสน้ำอยู่ บีบให้กระแสน้ำเข้าหากันเป็นรูปตัววี และถ้าผ่านแก่งวังบอนมาได้ กระแสน้ำหลัง แก่งวังบอน จะไหลย้อนทิศทางตรงนี้สามารถพักเรือบริเวณนี้ได้

          ล่องเรือต่อมาจะพบกับแก่งลูกเสือ ซึ่งมีความสนุกสนานเร้าใจไม่แพ้แก่งหินเพิง และผ่านไปจนถึง แก่งวังไทร และ แก่งงูเห่า ซึ่งเป็นแก่งสุดท้ายของการล่องแก่ง สายน้ำช่วงนี้แก่งวังไทรจะมีลักษณะเป็นคลื่นใหญ่ม้วนตัวขึ้นเป็นวง สร้างความตื่นเต้น เร้าใจได้พอสมควร


แก่งต่าง ๆ ที่ล่องผ่าน

          แก่งหินเพิง เป็นจุดเริ่มต้นของการล่องแก่ง ลักษณะหินของแก่งหินเพิง เป็นแก่งยาวประมาณ 150 เมตร ในช่วงฤดูฝน เป็นสุดยอดของการล่องแก่งทริปนี้

          แก่งผักหนามล้อม มีลักษณะเป็นวังน้ำขนาดใหญ่กระแสไหลวนไปมา

          แก่งวังบอน เป็นแก่งหินสั้น ๆ ยาวประมาณ 30 เมตร กระแสน้ำจะไหลลาดเอียงลงมาประมาณ 30 องศาผ่านชั้นหินและเกาะต่าง ๆ จากนั้นน้ำจะไหล เอื่อย ๆ ลงมายังแก่งลูกเสือ

          แก่งลูกเสือ มีลักษณะเป็นแก่งน้ำเล็ก ๆ มีร่องน้ำสามารถพายเรือยางผ่านไปได้ แต่ต้องระมัดระวังอันตรายจากกิ่งไม้ที่ยื่นออกมา

          แก่งวังไทร มีลักษณะเป็นแก่งหินกว้างประมาณ 50-60 เมตร ยาวประมาณ 150 เมตร ความกว้างของแก่งพอ ๆ กับแก่งลูกเสือ มีความลาดชันประมาณ 30 องศา กระแสน้ำจะไหลผ่านเกาะแก่งต่าง ๆ แล้วม้วนตัวเป็นวงคลื่น ต้องใช้ทักษะความชำนาญในการพายเรือค่อนข้างสูง

          แก่งงูเห่า ตั้งอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าที่ ขญ.9 ถ้าปริมาณน้ำไม่มากนัก จะแลเห็นเกาะแก่งต่าง ๆ โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ แต่ถ้าอยู่ในช่วงฤดูฝน กระแสน้ำจะไหลท่วมเกาะแก่งต่าง ๆ จนมีลักษณะคล้ายกับฝายกั้นน้ำ

          การล่องแก่งหินเพิงส่วนมากจะมาขึ้นฝั่งกันบริเวณแก่งวังไทร เพราะมีห้องสุขาและห้องอาบน้ำไว้บริการนักล่องแก่ง หรืออยากจะพักผ่อนนั่งรับประทาน อาหารกลางวันที่ทางรีสอร์ทจัดไว้ให้ก็ได้ เป็นอันสิ้นสุดการผจญภัยในแก่งหินเพิง

เทศกาลท่องเที่ยวดอกกระเจียวงาม จังหวัดชัยภูมิ


เทศกาลท่องเที่ยวดอกกระเจียวงาม จังหวัดชัยภูมิ ประจำปี 2554

          จังหวัดชัยภูมิ ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมา และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ขอ เชิญทุกท่านร่วม "หยิบหมอก หยอกดอกกระเจียว" งานเทศกาลท่องเที่ยวดอกกระเจียวงามจังหวัดชัยภูมิ ประจำปี 2554 ในระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2554 ณ อุทยานแห่งชาติป่าหินงามอำเภอเทพสถิต และอุทยานแห่งชาติไทรทอง อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ


            กิจกรรมที่น่าสนใจอื่น ๆ อาทิ ขบวนแห่กระเจียวคืนทุ่ง การแสดงดนตรีจากนักเรียนของอำเภอเทพสถิต การแข่งขันเดินเพื่อการกุศล ชมสวนหินงามป่าหินล้านปีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ ปั้นแต่งตามแต่จะสุดจินตนาการ การแสดง และจำหน่ายสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชัยภูมิ  

          อีก ทั้งทุ่งดอกกระเจียวสีขาว สีเขียว และสีชมพูอมม่วง น้ำตกไทรทอง และจุดชมวิวผาหำหดของอุทยานแห่งชาติไทรทอง ก็เป็นอีกสถานที่ที่รอการมาเยือนของนักท่องเที่ยว ให้เดินทางท่องเที่ยวด้วยหัวใจใหม่ อันจะส่งผลให้การท่องเที่ยวของจังหวัดชัยภูมิยั่งยืนได้ 

           และนี่จะเป็น 3 เดือน ฤดูฝนแห่งความสวยงาม อันจะทำให้เกิดกระแสการเดินทางมาเยือนเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ กว่า 6 แสนคน และกว่า 40 ล้านบาท กระจายทั่วเมืองชัยภูมิ" นายอรรถพล วรรณกิจ ผอ.สนง.ททท.สนง.นครราชสีมา กล่าวทิ้งท้าย

เทศกาลดูปู เที่ยวพุ ถ่อแพ ที่ห้วยเขย่ง


เทศกาลดูปู เที่ยวพุ ถ่อแพ ที่ห้วยเขย่ง 

 
          ขอ เชิญเที่ยวงาน เทศกาลดูปู เที่ยวพุ ถ่อแพ ที่ห้วยเขย่ง ระหว่างวันที่ 1- 31 กรกฎาคม 2554 ณ ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

          การ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  สำนักงานกาญจนบุรี เชิญคุณมาเพลิดเพลินกับการเที่ยวชมธรรมชาติ ในผืนป่าตะวันตกแห่งเมืองกาญจน์ ล่องเรือ ถ่อแพ ชมลำธาร ต้นกำเนิดแห่งชีวิตป่าตระการตากับมหัศจรรย์แห่งพันธุ์พืชในป่าพุ ดูปูน้ำจืดสามสีสุดสวยสัมผัสวิถีชีวิตพื้นบ้าน ชื่นชมวัฒนธรรมพื้นเมือง ลองชิมอาหารท้องถิ่นเลิศรส ผลไม้รสดีจากสวน ปลาสดขึ้นชื่อจากเขื่อน และพืชผักสด ๆ จากป่าทองผาภูมิ พักผ่อนนอนสบายในโฮมสเตย์ หรือเลือกพักรีสอร์ทสวยไสตล์ธรรมชาติ แล้วไปพิสูจน์ความแข็งแรงของหัวใจ กับกิจกรรมท่องเที่ยวผจญภัย หลากหลายรูปแบบ อาทิ...

          - ชมป่าพุหนองปลิงและพุปูราชินี
          - ชมสวนผลไม้และชมป่าศึกษาพรรรไม้
          - กิจกรรมพายเรือคายัคและล่องแพไม้ไผ่

          กิจกรรม Zip Line : 2 ชั่วโมง แห่งการผจญภัย กับการโรยตัวด้วยรอกผ่านหุบเขาและฐานกิจกรรมต่าง ๆ เหนือยอดไม้ของป่าห้วยเขย่ง สนุก เร้าใจ บนความปลอดภัยระดับมาตรฐานโลก

          กิจกรรมบนสายน้ำ : ล่องเรือคยัก เรือยาง แพไม้ไผ่ และห่วงยาง บนสายน้ำห้วยปากคอก "สวรรค์ของคนรักการล่องเรือ"


          ชมพุปูราชินี : แหล่งน้ำจืด 3 สีที่สวยงามและหาชมได้ยาก มีให้ชมเฉพาะในช่วงฤดูฝน ในพื้นที่ตำบลห้วยเขย่งเท่านั้น

          ชมพุหนองปลิง : อลังการแห่งพืชพรรณไม้ และหนองน้ำของป่าพุโบราณ ที่ยังคงความสมบูรณ์ทางชีวภาพไว้ได้อย่างน่าทึ่ง

          ถ้ำ 28 : ชมความงามของหินงอกหินย้อย และค้างคาวกิตติ "สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุดในโลก"

          ท่องเที่ยวเชิงเกษตร : ชิมเงาะทองผาภูมิที่ขึ้นชื่อ ทุเรียนมังคุดสดจากสวน และเที่ยวชมแปลงดอกไม้สวยภายในหมู่บ้าน


          ฟอสซิลหอย 280 ล้านปี : เป็นฟอสซิลหอย ที่มีลักษณะคล้ายหอยแครง ถูกค้นพบเมื่อปลายปี 2548 ในบริเวณถ้ำบนยอดเขานิชา (ตั้งอยู่ที่บ้านไร่ป้า)

          นั่งห้างดูช้างป่า : ตื่นเต้นประทับใจกับกิจกรรมเฝ้าสังเกตพฤติกรรมฝูงช้างป่า

          ต้นไม้ยักษ์ : ชมต้นขมิ้นดำขนาดใหญ่ กว่า 10 คนโอบ

          กิจกรรมขี่รถ ATV : เที่ยวชมป่าเขียว หมอกขาว ในเส้นทางธรรมชาติที่สวยงาม

          บึงน้ำทิพย์ : ผจญภัยไปกับเส้นทางสู่บึงน้ำลึกลับบนยอดเขา แห่งเดียวในประเทศไทยที่ใสประดุจมรกต และมีน้ำขังอยู่ตลอดทั้งปี บนพื้นที่ 15 ไร่ ความลึก 15 เมตร และไม่มีปลาอาศัยอยู่แม้แต่ตัวเดียว

          ชิมอาหารท้องถิ่น : ลาบปลาตะเพียน (ทอดเกล็ดปลาโรยหน้า) ห่อหมกด้วยกระบอกไม้ไผ่, ยำก๊อกซอยพม่า, น้ำพริกแตงเปรี้ยวและผักสด, แกงป่า, แกงฮังเล

          ชมศิลปวัฒนธรรม : ของชาวกะเหรี่ยง พม่า มอญ เช่น การบายศรีสู่ขวัญ,ฐ การรำมอญ, การรำพม่า, เต๊ะหน่า, รำตง, รำกระทบไม้

          ทั้ง นี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ศูนย์บริการท่องเที่ยวชุมชนห้วยเขย่ง โทรศัพท์ +668 0068 6086, +668 4723 6063, +668 9043 8182 และ ททท. สำนักงานกาญจนบุรี โทรศัพท์ +66 3451 1200, +66 3451 2500